วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

ลงทุุนสวนกระแสอย่าง แอนโทนี โบลตัน

ที่มา:  http://board.sarut-homesite.net/index.php?topic=12.0


  หลังจากห่างหายการเขียนบอร์ดมานาน วันนี้ได้ฤกษ์ดีเอาความรู้มาฝากเพื่อนๆพี่ๆในบอร์ด ครั้งนี้จะเขียนเกี่ยวกับนักลงทุนที่มีนามว่า  แอนโทนี โบลตัน เขาเป็นผู้จัดการกองทุน Fidelity Special Situation Fund ประเทศอังกฤษ โดยเขาได้เล่าเรื่องราวการลงทุนผ่านตัวอักษรในหนังสือ ‘ลงทุนสวนกระแสอย่างแอนโทนี โบลตัน’ อาจจะยาวไปหน่อยแต่ก็คุ้มค่าที่จะติดตามอ่านนะฮะ ^^ เชิญทุกคนสนุกสนานกับเขาได้เลย


บทที่ 1 วิธีการประเมินบริษัทและความสำคััญของการประชุมกับบริษัท
  • สิ่งที่ควรมองหาในธุรกิจ
              สิ่งแรกที่แอนโทนีจะทำ คือ การวิเคราะห์ที่ตัวบริษัท (ธุรกิจดีขนาดไหน?แฟรนไชส์? เพราะว่ามีความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน เพราะว่ามีสาขากระจายไปทั่วทุกสารทิศ ฐานลูกค้าก็จะถูกกระจายออกไป บริษัทมีความยั่งยืนเพียงไร?)
              **ทางด้านคุณปู่วอเร็น ก็ให้ความสนใจในเรื่องของความได้เปรียบเชิงแข่งขันเช่นกัน โดยเขาจะเปรียบเทียบความได้เปรียบเชิงแข่งขันของบริษัทว่าเป็นเหมือน’คูเมือง’ บริษัทชั้นเยี่ยมจะมีคูเมืองที่ลึกและยั่งยืน เพราะยิ่งคูเมืองแข็งแรงเท่าไร ข้าศึกก็โจมตีได้ยากเท่านั้น
              - สิ่งที่โบลตันใช้พิจารณาบริษัท..
                  - ถามคำถามง่ายๆกับตัวเองว่า’มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่บริษัทแห่งนี้จะยังคงทำธุรกิจอยู่และมีมูลค่ามากยิ่งขึ้นในอีกสิบปีข้างหน้า?
                  - ผมชอบบริษัทที่ควบคุมชะตากรรมของตัวเองได้ และไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงมหภาคมากมายนัก
                  - ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดในระยะกลางของบริษัท เขาเชื่อว่าธุรกิจที่สามารถสร้างกระแสเงินสดมีคุณภาพดีกว่าธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนมาก เช่น ธุรกิจบริการกับธุรกิจการผลิต ซึ่งธุรกิจการผลิตจะต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่า โดยเขาให้ความสำคัญกับธุรกิจที่สามารถเติบโตได้โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก

  • การไปเยี่ยมชมบริษัท/การพบปะกับบริษัท
               ข้อมูลหลังที่เขาจะใช้ในการตัดสินใจลงทุน ก็คือ ข้อมูลที่ได้จากการพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทที่เขาลงทุนหรือกำลังสนใจจะลงทุน การจะไปพบบริษัทเขาจะเตรียมตัวดูข้อมูลทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณหลายตัวแปร เช่น ราคาหุ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา P/E P/B มูลค่ากิจการต่อยอดขาย มูลค่ากิจการต่อกำไรก่อนหักดอกเบี้ย เป็นต้น เขาจะพิจารณาตัวแปรเหล่านี้ตลอดหนึ่งรอบวัฏจักร นอกจากนี้เขายังดูรายงานการซื้อขายหุ้นของผู้บริหาร(ผู้บริหารซื้อเป็นสัญญาณที่ดีที่บอกว่าบริษัทมีการเติบโต ไม่งั้นเขาจะซื้อทำไม??) รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ รายชื่อผู้ถือหุ้นสถาบัน ถ้ามีนักลงทุนสถาบันถืออยู่มากแสดงว่าหุ้นตัวนี้ได้รับความสนใจ และนักลงทุนสถาบันเป็นกุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ราคาหุ้นขึ้น-ลงได้มากกว่านักลงทุนรายย่อย


บทที่ 2 การวิเคราะห์ผู้บริหาร
  • การทำความรู้จักผู้บริหาร
                 โบลตัน ให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์และความเปิดเผยตรงไปตรงมาของผู้บริหารมาก ทั้งนี้ผู้บริหารที่ทำให้เขาประทับใจ คือ ผู้บริหารที่มีความรอบรู้ในตัวธุรกิจ ทั้งในด้านกลยุทธ์ การดำเนินงาน และการเงิน โดยทั่วไปแล้ว เขาจะชอบบริษัทที่ผู้บริหารถือหุ้นด้วย แต่เขาจะให้ความสำคัญกับบริษัทที่ผู้บริหารถือหุ้นอยู่จำนวนมาก(มีนัยสำคัญ) หากพวกเขามีหุ้นอยู่เพียงไม่กี่หุ้น แรงจูงใจหลักของพวกเขาคือ ชื่อเสียงเกรียรติยศที่ได้จากการบริหารแต่เรื่องผลตอบแทนผู้ถือหุ้นจะเป็นเรื่องรองลงมา


บทที่ 3 หุ้น-มีเหตุผลในการตัดสินใจลงทุน 
     “คุณควรมีเหตุผลสำหรับการถือหุ้นทุกตัวของคุณ”
           คุณควรสามารถเขียนสรุปเหตุผลในการซื้อหุ้นตัวหนึ่งๆเพียงสองสามประโยคได้ -ปีเตอร์ ลินซ์ อย่างไรก็ตาม คุณควรคิดถึงเหตุผลที่อาจจะทำให้หุ้นตัวนี้เป็นหุ้นที่แย่ด้วย เพราะไม่ว่าหุ้นจะดีแค่ไหน มักจะมีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้นักลงทุนบางคนไม่ชอบหุ้นตัวนี้  แต่ที่สำคัญ “จงลงทุนในสิ่งที่คุณมีความได้เปรียบ”
           สิ่งที่สำคัญที่โบลตันให้ความใส่ใจ คือ คุณควรลืมราคาต้นทุนของคุณซะ เหตุผลในการลงทุนคือ หัวใจ ถ้ามันเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงและหุ้นตัวนี้ไม่น่าซื้อหรือน่าขาย คุณก็ควรจะขาย เพราะการพยายามเอาเงินคืนจากหุ้นที่คุณขาดทุนเพียงเพราะต้องการพิสูจน์ว่าเหตุผลเริ่มแรกของคุณถูกเป็นเรื่องน่าอันตราย(เพราะนอกจากจะขาดทุนแล้ว คุณยังอาจจะสูญเงินต้นทั้งหมดเลยก็ได้)
   ในระยะสั้น ราคาหุ้นจะเป็นไปตามกฎอุปสงค์-อุปทาน แต่ในระยะยาว ราคาหุ้นส่วนใหญ่จะเคลื่อนไหวตามผลกำไรของบริษัท 


บทที่ 4 อารมณ์ของตลาด-มิติเพิ่มเติม
   ‘ในระยะสั้นตลาดหุ้นเหมือนเครื่องลงคะแนนเสียง แต่ในระยะยาวมันเป็นเครื่องชั่งน้ำหนัก’ - เบน เกรแฮม 
           ราคาหุ้นจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรม ราคาหุ้นที่ร่วงหล่นจะก่อให้เกิดความไม่แน่ใจและความกังวล ราคาหุ้นที่ทะยานขึ้น จะก่อให้เกิดความกล้าและความเชื่อมั่น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการลงทุน โบรกเกอร์ทุกคนรู้ดีว่าโดยปกติแล้ว การขายหุ้นที่ได้รับความนิยมและกำลังขึ้นให้เราๆในตลาดจะง่ายกว่าการขายหุ้นที่ไม่มีคนนิยมและอยู่ในช่วงขาลง นักลงทุนที่ดีจะต้องพยายามฝืนความรู้สึกอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์นี้ 
           “การลงทุนให้ประสบผลสำเร็จ เป็นการผสมผสานกันระหว่างการเชื่อมั่นในความคิดของตัวเองและการเงี่ยหูฟังตลาด คุณไม่อาจประสบความสำเร็จได้ ถ้าคุณละเลยอย่างใดอย่างหนึ่ง”

           พฤติกรรมของนักลงทุนที่ดี
              - เปิดใจกว้าง(open mind) เมื่อเราซื้อหุ้นมาแล้ว มักจะปิดกั้นความคิดที่ว่า การตัดสินใจของเราผิดพลาด 
              - คิดอย่างเป็นอิสระ (free thinking) เราไม่ได้ถูกหรือผิด เพราะฝูงชนไม่เห็นด้วยกับคุณ
              - อย่าเชื่อมั่นเกินเหตุ 
              - เราไม่ควรขายขาดทุนยากเกินไป และขายทำกำไรเร็วเกินไป
              - สำหรับหุ้นแต่ละตัวที่เราถืออยู่ ให้ถามตัวเองว่า เราจะซื้อที่ราคานี้หรือไม่?
      

บทที่ 5 การสร้างพอร์ตโฟลิโอหุ้น
           โบลตัน กล่าวว่า เขาไม่เคยสร้างพอร์ตโฟลิโอที่ใกล้เคียงดัชนี เขาจะตระหนักเสมอว่า หุ้นตัวไหนที่ให้น้ำหนักมาก ตัวไหนน้อย แต่โดยปกติแล้ว เขาจะไม่พยายามขายหุ้นที่ให้น้ำหนักน้อยออกไป เขาจะไม่อยากถือหุ้นถ้าไม่เชื่อว่าราคาหุ้นผิดไปจากมูลค่า และจะไม่ซื้อหุ้นเพียงเพราะมันเป็นหุ้นตัวหลักของดัชนี
            การบริหารเงินลงทุนจะมีความผิดพลาดมากมาย การถูกแค่ 55-60% ก็ถือว่าดีแล้ว ทั้งหมดที่เราต้องการเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าก็คือ การซื้อหุ้นเยี่ยมๆ เพียงไม่กี่ตัว โดยมูลค่าเงินลงทุนในหุ้นแต่ละตัวจะสะท้อนถึงระดับความเชื่อมั่นของเขาที่มีต่อหุ้นตัวนั้น,ความเสี่ยงของมันมสภาพคล่อง โดยเขาจะเปลี่ยนแปลงขนาดการลงทุนเมื่อระดับความเชื่อมั่นเปลี่ยนไป เช่น เมื่อมีการพูดคุยกับบริษัทและมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ก็เก็บหุ้นเข้าพอร์ตโฟลิโอเพิ่ม สำหรับหุ้นแต่ละตัว เขาจะซื้อหรือขายไปเรื่อยๆ และจะเปลี่ยนทิศทางก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ที่สำคัญก็คือ เขาจะทยอยซื้อหรือขายหุ้น ถ้าความเชื่อมั่นของเขาเพิ่มขึ้น เขาจะทยอยซื้อหุ้นเพิ่ม เช่นเดียวกันกับการขาย
           เหตุผลหลักในการตัดสินใจขาย คือ 1) ถ้ามีเหตุการณ์เชิงลบมาหักล้างเหตุผลในการลงทุน  2)ถ้าราคาหุ้นขึ้นไปสูงถึงมูลค่าที่วิเคราะห์ไว้ หรือ 3)เจอหุ้นที่ดีกว่า   

           ‘สุดยอดความมั่งคั่งในประเทศนี้ ไม่ได้เกิดจากพอร์ตโฟลิโอที่ประกอบไปด้วย 50 บริษัท แต่เกิดจากการเสาะหาธุรกิจชั้นเลิศเพียงอย่างเดียว ในการซื้อหุ้นแต่ละตัวคุณควรมีความกล้าและความเชื่อมั่นมากพอที่จะใช้เงินอย่างน้อย 10% ของพอร์ตซื้อ’ - วอเร็น บัฟเฟตต์ 


บทที่ 6 การวิเคราะห์ตัวเลขทางการเงิน
           กองทุน Fidelity ที่โบลตันบริหารกองทุนอยู่นั้น นักวิเคราะห์ทุกคนจะคาดการณ์งบกำไรขาดทุน,งบกระแสเงินสด และงบดุลของบริษัทแต่ละแห่งในอนาคตข้างหน้า หนึ่งในข้อมูลที่สำคัญคือ ตัวเลขกำไรคาดการณ์ และจะนำตัวเลขที่ได้มาเปรียบเทียบกับตัวเลขของนักวิเคราะห์ของหุ้นตัวนั้นๆ ความแตกต่างของตัวเลขมีความสำคัญต่อกระบวนการลงทุนของกองทุนมาก ถ้าเมื่อไรก็ตามที่คุณสงสัยในสถานการณ์ของบริษัท ให้ดูกระแสเงินสด เพราะ ‘เงินสดคือเรื่องจริง ส่วนกำไรเป็นแค่เพียงความฝัน’ - อัลเฟรด แรพพาพอร์ต


บทที่ 7 การประเมินความเสี่ยง
           การซื้อหุ้นของบริษัทที่มีภาระหนี้สินสูงๆ จะคล้ายกับการซื้อหุ้นของบริษัทที่ไม่มีหนี้สินด้วยมาร์จินหลายๆครั้ง เมื่อเหตุการณ์ส่อแววทำท่าจะแย่ ธนาคารจะบังคับให้บริษัทขายแผนกต่างๆออกไป เช่นเดียวกันกับหุ้นในพอร์ตของเรา ถ้าบริษัทมีหนี้สินสูงแล้วทำท่าจะแย่ ราคาหุ้นจะตกต่ำลง ผู้ที่ถือหุ้นอยู่ในมือจะต้องจำยอมขายหุ้น ดังนั้น ราคาซื้อขายของหุ้นจะอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาที่บริษัทและนักลงทุนซื้อไว้
           เวลาดูภาระหนี้สิน เราควรดูทั้งเงินกู้ยืมจากธนาคารและหุ้นกู้ นอกจากนี้ยังมีหนี้สินอื่นๆ เช่น ภาระผูกพันในอนาคต,หนี้สินกองทุน และหุ้นบุริมสิทธิ์ที่สามารถถูกไถ่ถอนได้ เป็นต้น ระดับหนี้สินของบริษัทบางแห่งจะขึ้นๆลงๆ ในระหว่างเดือนหรือไตรมาส ในกรณีแบบนี้การดูระดับหนี้สินตอนครึ่งปีหรือปลายปี อาจจะทำให้เราเข้าใจว่า บริษัทมีฐานะการเงินดีกว่าความเป็นจริง อีกทั้งเรายังควรดูตัวเลขดอกเบี่ยจ่าย ซึ่งมันจะช่วยยืนยันระดับหนี้สินเฉลี่ยของบริษัทด้วย
   
‘การขาดทุนที่ร้ายแรงที่สุดเกิดจากบริษัทที่มีงบดุลย่ำแย่’ - Peter Lynch


บทที่ 8 การประเมินมูลค่าหุ้น
            สำหรับแอนโทนี เขาไม่มีวิธีการประเมินมูลค่าหุ้นด้วยตัวแปรตัวใดตัวหนึ่ง แต่จะวัดมูลค่าหลายๆตัว จะดูทั้งมูลค่าเชิงเปรียบเทียบและมูลค่าของตัวมันเอง (Absolute Basis) สำหรับบริษัทส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ในภาคการเงิน เขาจะดูอัตราส่วนห้าตัวหลัก 
              ตัวแรก คือ ค่าP/E ในปีปัจจุบันและในอีกสองปีข้างหน้า โดยเขาจะดูทั้งค่า Relative P/E และค่า Absolute P/E (ซึ่งเป็นค่าP/E จองหุ้นตัวนั้นๆเอง) 
              ตัวที่สอง อัตราส่วนมูลค่ากิจการต่อกระแสเงินสดขั้นต้นคาดการณ์ (EV/EBITDA) 
              สาม พิจารณากระแสเงินสดอิสระคาดการณ์ 
              สี่ Price to Sales หรือ EV to sales ตัววัดพวกนี้มีประโยชน์สำหรับบริษัทที่กำลังขาดทุนหรือมีกำไรต่ำ 
             ห้า คือการดูกระแสเงินสดตอบแทนจากการลงทุน ควบคู่กับการเปรียบเทียบราคาหุ้นกับจำนวนเงินลงทุน
           ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมจะไม่สามารถใช้ตัวชี้วัดตัวเดียวกันในการประเมินมูลค่าของบริษํทได้ อย่างเช่น อัตราส่วนP/BV จะมีประโยชน์กับหุ้นกลุ่มรับสร้างบ้าน แต่ P/E จะไม่เหมาะกับหุ้นกลุ่มนี้ เนื่องจากผลกำไรจากการขายที่ดินไม่ได้เกิดซ้ำๆกันทุกปี


บทที่ 9 เป้าหมายของการถูกซื้อกิจการ
           หนึ่งในสิ่งดีๆ เกี่ยวกับการถือครองหุ้น คือ บางครั้ง บริษัทจะถูกซื้อกิจการในราคาพรีเมี่ยม โดยเฉลี่ยแล้ว การซื้อกิจการมักจะอยู่ในระดับราคาสูงกว่าราคาหุ้นล่าสุด 25-30% และในบางครั้ง หากมีการแข่งขันกันซื้อ ราคาซื้อก็อาจจะสูงกว่านั้นอีกมาก ดังนั้น การเสาะหาหุ้นที่มีโอกาสถูกซื้อกิจการจะทำให้นักลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น (ถึงแม้ว่าจะหายากก็ตามที)
           อีกแง่มุมหนึ่งที่สามารถให้เบาะแสของความเป็นไปได้ในการถูกซื้อกิจการแก่เราก็คือ การวิเคราะห์รายชื่อผู้ถือหุ้น หากบริษัทมีผู้ถือหุ้นหรือกลุ่มผู้มีถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมบริษัท การเทคโอเวอร์จะขึ้นอยู่กับความเห็นของพวกเขา อย่างไรก็ตาม ถ้าบริษัทมีผู้ถือหุ้นขนาดใหญ่หนึ่งหรือสองรายแต่ไม่ถึงขนาดมีอำนาจควบคุมบริษํท ผู้ถือหุ้นจะอยู่ในฐานะเปราะบางกว่า ในกรณีข้างต้น ผู้เสนอซื้อจะรู้ว่า ถ้าพวกเขาสามารถได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นขนาดใหญ่สองหรือสามราย โอกาสการซื้อกิจการได้สำเร็จจะมีสูง บริษัทซึ่งไม่มีผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมและมีเงินสดส่วนเกินจำนวนมาก จะมีโอกาสถูกเทคโอเวอร์มาก

‘การเน้นไปยังบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก จะทำให้หุ้นที่คุณถืออยู่มีโอกาสถูกซื้อกิจการมากขึ้น’ - Anthony Bolton 


บทที่ 10 ประเภทหุ้นสุดโปรดของแอนโทนี
           หัวใจของแนวทางการลงทุนของโบลตัน คือการซื้อหุ้นฟื้นตัวในระดับราคาที่น่าสนใจ บริษัทเหล่านี้มักเป็นธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานย่ำแย่มาช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทำให้นักลงทุนไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องหรือให้ความสนใจและอาจพลาดโอกาสในการลงทุนไป
           หุ้นฟื้นตัวที่ดีที่สุด คือหุ้นของบริษัทที่มีผู้บริหารคนใหม่เข้ามาและผู้บริหารรู้ว่า บริษัทล้าหลังคู่แข่งในด้านไหน และมีแผนชัดเจนที่จะทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทกลับไปทัดเทียมกับคู่แข่ง
           การซื้อหุ้นฟื้นตัวมักจะต้องซื้อหุ้นก่อนที่เราจะมีข้อมูลทั้งหมดก่อน และซื้อในจังหวะที่การซื้อก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ บางครั้ง เขาจะซื้อหุ้นในจำนวนน้อยๆก่อน แล้วซื้อเพิ่มเมื่อมั่นใจมากขึ้น
           นอกจากหุ้นฟื้นตัว โบลตันยังชอบบริษํทที่ราคาหุ้นซื้อขายกันในระดับต่ำกว่ามูลค่าสินทรัพย์,บริษัทโตเร็วที่คนไม่ค่อยรับรู้,บริษัทที่ตลาดให้ราคาผิด(เช่น หุ้นที่ถูกที่สุดในกลุ่ม แต่เราไม่คิดว่ามันไม่น่าถูกที่สุด) และบริษัทที่มีโอกาสเทคโอเวอร์


บทที่ 11 วิธีการเทรด
           เนื้อหาในบทนี้จะเกี่ยวกับการซื้อ-ขายหุ้น ผ่านเทรดเดอร์และพูดถึงทีมงานของโบลตัน เขากล่าวว่าการเทรดหุ้นโดยมีทีมเทรดเดอร์มาช่วย จะเป็นการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่า เพราะเขาสามารถนำเวลาไปศึกษาหุ้นได้


บทที่ 12 การวิเคราะห์ทางเทคนิคและความสำคัญของกราฟ
           เมื่อไรก็ตามที่แอนโทนีได้ยินข่าวอันน่าสนใจกี่ยวกับบริษัท ที่เขาขาดการติดตาม สิ่งแรกที่เขาดูก็คือ กราฟราคาหุ้น เพราะเขาต้องการรู้ว่า สิ่งที่เขาได้ยินมานั้นมีนักลงทุนจำนวนมาก-น้อยเข้ามาซื้อหุ้นเพราะข่าวนี้ไปแล้วมากเท่าใด
           ถ้าการวิเคราะห์ทางเทคนิคยืนยันมุมมองเชิงปัจจัยพื้นฐาน เขาก็จะซื้อหุ้นตัวนั้น มากขึ้นกว่าในกรณีตรงข้าม อย่างไรก็ตาม หากการวิเคราะห์ทางเทคนิคไม่ยืนยันมุมมองเชิงปัจจัยพื้นฐาน  เขาก็จะทบทวนการวิเคราะห์บริษัทอีกครั้งว่ามีปัจจัยเชิงลบอะไรที่มองข้ามไปหรือเปล่า ถ้าเชื่อมั่นเต็มเปี่ยม บ่อยครั้ง เขาจะมองข้ามมุมมองทางเทคนิคและบางครั้ง ถ้ามันขัดแย้งกัน เขาจะซื้อหุ้นในจำนวนน้อยลง หรือขายหุ้นออกไปบ้าง
‘หาระบบที่ใช้ได้ผลสำหรับคุณ และใช้มันไปตลอด’


บทที่ 13 แหล่งข้อมูลที่ใช้
           ในบทนี้แอนโทนี โบลตัน จะกล่าวถึงข้อมูลจากแหล่งต่างๆไม่ว่าจะเป็นบทวิเคราะห์จากบริษัท, หนังสือพิมพ์, ข่าวโทรทัศน์ ,อีเมลล์ เป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจซื้อหุ้นตัวหนึ่งๆ แต่หัวใจที่สำคัญคือการตรวจสอบและเปรียบเทียบข้อมูลเหล่านี้ที่ได้มา
           ‘ปัญหาเชิงสติปัญญาข้อใหญ่ที่สุดของนักลงทุนน่าจะเป็นการรับมือกับเสียงรบกวนและการพูดพล่ามแบบไม่มีสาระ เสียงรบกวนคือข้อมูลระยะสั้นจากภายนอกซึ่งมีลักษณะแบบสุ่ม และไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจลงทุน การพูดพล่ามแบบไม่มีสาระและการให้ความเห็นเรื่อยเปื่อยของคนที่ดูมีเจตนาดีและน่าสนใจ งานใหญ่ของนักลงทุนผู้มั่งมั่นก็คือการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นกองมหึมาออกมาเป็นความรู้ จากนั้นก็สกัดความหมายทางการลงทุนออกมาจากมัน’ - บาร์ตัน บิกส์


บทที่ 14 ความสำคัญของโบรกเกอร์
           ‘อย่าทำธุรกิจกับคนที่คุณยังไม่เคยเห็นหน้า’ ดังนั้นโบลตันจะทำการพบปะกับโบรกเกอร์อย่างน้อยปีละสองครั้ง ซึ่งเขามักจะบอกให้พวกเขาหาความคิดดีๆมาคุยกัน เขาคิดว่า การทำความรู้จักกับคนปลายสายโทรศัพท์(โบรกเกอร์) และการใช้เวลาสร้างความสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญ 

           ‘เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ได้รับโทรศัพท์จากโบรกเกอร์เป็นคนแรก เราไม่จำเป็นต้องรู้คำแนะนำซื้อขายของพวกเขาในนาทีแรก แต่สิ่งที่เราต้องรู้ก็คือ พวกเขามีความเชื่อมั่นมากขนาดไหน และอะไรคือเหตุผล’


บทที่ 15 การจับจังหวะตลาดและกลไกของตลาด
           ตลาดหุ้นเป็นตัวสะท้อนอนาคตชั้นเยี่ยม ความเคลื่อนไหวของตลาดจะอ้างอิงจากสิ่งที่นักลงทุนโดยรวมคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วง6-12 เดือนข้างหน้า จากประสบการณ์ของโบลตัน การคาดการณ์ทิศทางตลาดเป็นเรื่องยากมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคาดการณ์ให้ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง โดยทั่วไปแล้ว นักลงทุนควรหลีกเลี่ยงการคาดการณ์และการจับจังหวะตลาด มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะมองโลกในแง่ดีมากขึ้นในขณะที่ตลาดกำลังปรับตัวขึ้น และมองโลกในแง่ร้ายลงตอนที่ตลาดกำลังตก เนื่องจากข่าวสารโดยรวมจะมีทิศทางแบบนั้น คนจับจังหวะตลาดที่ประสบความสำเร็จต้องสามารถคิดสวนทางกับอารมณ์โดยรวมของตลาดได้ และยังต้องสามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้อีกด้วย

           เมื่อไรก็ตามที่เขาจะประเมินแนวโน้มตลาด เขาจะให้น้ำหนักกับปัจจับสามอย่าง แต่สิ่งที่เขาไม่ดูเลยก็คือ แนวโน้มเศรษฐกิจ เนื่องจากมันดูดีเยี่ยมที่จุดสูงสุดของตลาด และดูเลวร้ายเกินที่จุดต่ำสุด ปัจจัยสามอย่าง คือ 
                         1)รูปแบบของตลาดกระทิงและตลาดหมีในอดีต 
                         2)ตัวชี้วัดอารมณ์และพฤติกรรมของนักลงทุน เช่น อัตราส่วนระหว่าง put และ call option, ความผันผวน, สัดส่วนของหุ้นที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้นและหุ้นที่มีราคาลดลง เป็นต้น 
                         3)ตัววัดมูลค่าในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าตามบัญชีและกระแสเงินสดอิสระ จากประสบการณ์ของเขา ถ้าปัจจัยทั้งสามอย่างนี้ยืนยันกันและกัน ตลาดน่าจะอยู่ใกล้จุดกลับตัวแล้ว


บทที่ 16 ควรทำอย่างไรเมื่อผลงานคุณออกมาไม่ดี
  • อย่าดื้อรั้นยึดติดกับมุมมองของคุณมากเกินไป แต่ก็อย่าถึงขนาดสูญเสียความเชื่อมั่นไปจนหมด
  • อย่าต้อนตัวเองให้จนมุมกับมุมมองของตัวเอง
  • เปิดใจกว้างฟังคำแนะนำของคนอื่นเกี่ยวกับข้อผิดพลาดของคุณ
  • การเปิดใจกว้างรับฟังมุมมองอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มุมมองที่ขัดแย้งกับมุมมองของเราเอง
  • อย่าโยนหลักการของคุณทิ้ง อย่าพยายามเปลี่ยนไปใช้วิธีการใหม่ที่คุณไม่เชื่อถือ
  • ใช้เวลาให้มากพอกับการมองหาหุ้นตัวใหม่ๆ ไม่ใช่แต่คอยติดตามหุ้นที่คุณมีอยู่เท่านั้น
  • นอกจากการตรวจสอบหุ้นแต่ละตัว คุณควรดูลักษณะพอร์ตโฟลิโอด้วยว่า มันสะท้อนระดับความเชื่อมั่นของคุณหรือเปล่า หุ้นซึ่งคุณมีความเชื่อมั่นมากที่สุดมีสัดส่วนมากพอหรือเปล่า?
  • อย่าปกป้องตัวเองด้วยการตัวเองว่า มันเป็นพรหมลิิตและคุณไม่สามารถทำอะไรเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ และอย่าปลีกตัวออกจากเพื่อนร่วมงานและลูกค้า
  • ท้ายที่สุด เมื่อผลงานของคุณพลิกกลับคืนมาดีอีกครั้ง แย่าลืมวันอันแสนเลวร้าย อย่าหลงคิดไปว่าตัวเองเป็นเซียนเดินบนผิวน้ำได้

       หวังว่าทุกคนจะเพลิดเพลินไปกับการอ่านบทความที่คุดสรรมาให้เพื่อนๆทุกคน ^^ แล้วเจอกันกับเล่มต่อไป See youu